อาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

โรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคร้ายต่าง ๆ ที่ตามมา ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามที่คนเป็นโรคหัวใจไม่ควรกิน ดังต่อไปนี้

อาหารไขมันสูง

อาหารที่มีกรดอิ่มตัวและไขมันเลวจากไขมันสัตว์ที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารมื้อหลัก อย่าง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ กะทิ น้ำมันพืช รวมถึงอาหารแปรรูป จำพวก ไส้กรอก แฮม เบคอน หรือผลิตภัณฑ์จากนม เนย ชีส มาการีน อาหารในกลุ่มนี้สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจควรจำกัดปริมาณในการกิน เพราะจะทำให้ได้รับปริมาณไขมันเกินความต้องการของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดการสะสมของไขมันตามผนังเส้นเลือด เพิ่มความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต

ไขมันทรานส์

อีกประเภทไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงหรือถ้าห้ามกินได้ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ คือการรับประทานเบเกอรีต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์เป็นหลัก โดยเฉพาะมาการีน เนยขาว ครีมเทียม ในคุกกี้ พาย เค้ก เพราะไขมันทรานส์พวกนี้จะไปเพิ่มปริมาณไขมันเลวในร่างกาย กระตุ้นให้เกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาหารคอเลสเตอรอลสูง

คอเลสเตอรอลเป็นสิ่งที่มักแอบแฝงอยู่ในอาหารหน้าตาน่ารับประทานและดูผิวเผินไม่น่าเชื่อว่าจะมี เช่น อาหารทะเลที่ดูคอเลสเตอรอลน้อย เป็นมิตรต่อสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้ว ปลาหมึก มันกุ้ง เครื่องในสัตว์ หอยนางรม มีปริมาณคอเลสเตอรอลเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ติดมันเสียอีก

อาหารรสจัด

ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ น้ำจิ้มสำเร็จรูป ผงปรุงรส ซอสปรุงอาหาร หรืออาหารที่ผ่านการดองเค็มอย่าง กะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม ที่ให้รสชาติเค็มจัด เพราะเป็นแหล่งสะสมโซเดียมปริมาณมหาศาล รวมถึงอาหารรสชาติหวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน เพราะเมื่อน้ำตาลเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินความต้องการ น้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นไขมันเลวในที่สุด

อาหารฟาสต์ฟู้ด

อีกหนึ่งเมนูที่คนไทยนิยมรับประทาน แต่อาหารกลุ่มนี้ถือว่าเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับการควบคุมพฤติกรรมการกินของคนเป็นโรคหัวใจ เพราะในพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์  ไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ อุดมไปด้วยไขมันเลวเกือบทุกชนิดที่ร่างกายไม่ต้องการ รวมถึงมีจำนวนคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าอาหารประเภทอื่น
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณที่พอดี รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำและรับประทานยาตามที่หมอสั่ง ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ลดความเครียด ก็จะช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น